***ช่วยกันแชร์หน่อยจ้า****

อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับระบบเฟืองท้ายกันก่อนครับ ว่าทำไมถึงต้องมีอุปกรณ์ตัวนี้ ประโยชน์ และหน้าที่ของมันคืออะไร เฟืองท้าย หรือดิฟเฟอเรนเชียล (DIFFERENTIAL) มีความสำคัญอย่างมากในรถยนต์ หน้าที่หลักมีอยู่ 2 ประการคือ

1. เปลี่ยนทิศทางการส่งกำลัง ในรถกระบะเฟืองท้ายจะอยู่ในเพลาหลัง ที่รับกำลังของเครื่องยนต์โดยส่งผ่านเพลากลางมา ถ้าก้มไปดูจะเห็นว่าเพลากลางหมุนตามแนวขวางของตัวรถแต่ล้อหลังนั้นจะหมุนตามความยาวของตัวรถ เจ้าเฟืองท้ายนี่ล่ะ ที่เป็นตัวกลางในการเปลี่ยนทิศทางดังกล่าว ส่วนเรื่องของอัตราทดนั้น เป็นผลพลอยได้ที่ตามมา

2. สร้างความแตกต่างในการหมุนระหว่างล้อหลังซ้าย/ขวา ในขณะที่เข้าโค้ง ทำไมต้องให้ล้อหลังทั้ง 2 ข้างหมุนแตกต่างกันในขณะเข้าโค้ง เหตุผลก็คือ ต้องการเสถียรภาพในการเคลื่อนที่ ถ้าไม่มีความแตกต่างเวลาเลี้ยวรถมันจะเป็นไปแบบขืนๆ ต้องตีวงกว้าง รวมทั้งไม่สามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วได้ เช่น เวลาเข้าโค้งซ้าย ล้อด้านขวาจะต้องใช้ระยะทางมากกว่า เพราะอยู่ห่างจุดศูนย์กลางในการหมุนมากกว่าถ้าเคยเห็นรถม้าหรือเกวียน ลองสังเกตดูจะเห็นว่า เวลาเลี้ยวซ้ายล้อซ้ายจะหมุนน้อยกว่าชัดเจน เพราะมันต้องการระยะทางน้อยกว่าล้อด้านขวา

หน้าที่หลักทั้ง 2 ข้อนั้น ช่วยให้คุณควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางโค้งสามารถเข้าโค้งได้ในมุมที่แคบลง และใช้ความเร็วได้มากขึ้น ในเฟืองท้ายนั้น ประกอบด้วยชุดเฟืองหลักๆ 3 ส่วน แต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดจะทำงานร่วมกัน ส่วนแรก คือ เฟืองเดือยหมู (PINION GEAR) จะรับแรง และทิศทางหมุนตามแนวขวางของตัวรถจากเพลากลาง มาขับเฟืองบายศรี (RING GEAR) การเปลี่ยนทิศทางการหมุนก็จะเกิดขึ้นที่นี่ เพราะเฟืองบายศรี จะมีลักษณะเป็นจานกลมๆ ติดตั้งตามแนวความยาวของตัวรถเช่นเดียวกับล้อ สุดท้ายคือ เฟืองดอกจอก (BEVEL GEAR) เจ้าตัวนี้มีหน้าที่สำคัญขณะเข้าโค้ง มันมีหน้าที่สร้างความแตกต่างระหว่างล้อทั้ง 2 ข้าง

บนเส้นทางทั่วไป เฟืองท้ายธรรมดาสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีข้อเสียคือ กรณีที่ล้อข้างใดข้างหนึ่งเกิดติดหล่ม การส่งถ่ายกำลังจะถูกถ่ายไปยังล้อที่มีแรงเสียดทานน้อยกว่า ทำให้เกิดอาการหมุนฟรี ส่วนล้ออีกด้านก็จะไม่มีแรงบิดพอที่จะทำให้ตัวรถเคลื่อนที่ไปได้ ถือว่าเป็นปัญหาหลัก โดยเฉพาะกับรถที่ต้องใช้งานในสภาพเส้นทางทุรกันดาร เฟืองท้ายแบบลิมิเทด สลิพจึงเข้ามามีบทบาทมากในการส่งถ่ายกำลังจากล้อที่เกิดการหมุนฟรีไปยังล้อที่อยู่ตรงข้าม เพื่อให้มีแรงตะกุยพารถให้พ้นอุปสรรคไปได้ แต่การแบ่งถ่ายกำลังจากล้อที่หมุนฟรี 100 % ไปยังล้อที่อยู่ตรงข้ามนั้น ทำได้ราว 25 40 % ขึ้นอยู่กับชนิด และรูปแบบของระบบ ลิมิเทด สลิพ อัตราส่วนการส่งถ่ายกำลังระหว่างล้อทั้ง 2 ข้าง อาจจะเป็น 30:70 บางครั้งก็ยังไม่สามารถผ่านพ้นอุปสรรคได้

แต่ระบบ ดิฟฟ์-ลอค จะทำการลอคการส่งถ่ายกำลังไปยังล้อทั้ง 2 ข้างให้เท่ากันตลอดเวลา คือ 50:50 ล้อ 2 ข้างมีแรงตะกุยเท่ากัน จึงสามารถข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้ดีกว่า บรรดาผู้ใช้รถ 4×4 จะรู้จักกับระบบนี้ดี ในสภาพเส้นทางทุรกันดารมากๆ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เพราะสามารถช่วยให้ฟันฝ่าอุปสรรคได้ดีกว่าระบบ ลิมิเทด สลิพ แต่ ดิฟฟ์-ลอค มีข้อจำกัดในการใช้งาน เพราะไม่เหมาะกับการใช้งานบนถนนปกติ หรือว่าการขับด้วยความเร็วสูงเพราะล้อทั้ง 2 ข้างจะหมุนด้วยความเร็วที่เท่ากัน ล้อที่อยู่ด้านใน หรือใกล้จุดหมุนจะมีอาการเสียดสีกับผิวถนนมาก ทำให้หน้ายางเสียหายได้ง่าย รวมทั้งอายุการใช้งานของบุชต่างๆ จะสั้นลง ระบบนี้จึงเหมาะกับการใช้งานในความเร็วต่ำ ที่ต้องการพลังในการฉุดลากมากๆ เท่านั้น

ตรงกับจุดประสงค์ที่ทาง เชฟโรเลต์ ติดตั้งระบบ G80 DIFF-LOCK มาให้ เพราะต้องการให้กลุ่มลูกค้าที่บรรทุกหนัก เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ต้องขับขี่ในสภาพเส้นทางตามไร่นา เพราะต้องบรรทุกหนักบนสภาพเส้นทางดิน/ลูกรัง หรือกรวด เป็นส่วนใหญ่ มักจะประสบปัญหาในการใช้งาน โดยเฉพาะในฤดูฝน หรือบนเส้นทางที่ล้ออาจจะเกิดอาการหมุนฟรีได้ง่าย ระบบนี้จึงถูกติดตั้ง เพื่อช่วยให้การขับขี่ง่ายขึ้น สินค้าบางตัวนั้นต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เพื่อไม่ให้ช้ำ หรือเน่าเสีย ซึ่งเป็นเป้าหมายการติดตั้งในรถขับเคลื่อน 2 ล้อ ส่วนรุ่น 4WD ถือว่าได้ของดีที่จะเอาเข้าไปลุยแบบโหดๆ ได้ เนื่องจากการติดตั้ง ดิฟฟ์-ลอค มีราคาแพงพอสมควร

หลักการทำงานของระบบ G80 DIFF-LOCK จะทำงานต่อเมื่อล้อหลังทั้ง 2 ข้างหมุนไม่เท่ากัน มีความแตกต่างกันเกินกว่า 100 รตน. ขึ้นไป ตัวควบคุมความเร็วรอบ (FLY WEIGHT) (รูป A) จะกางออก และลอคเข้ากับแขนเกี่ยว (COUNTER WEIGHT) (รูป B) กลไกภายในจะขยายตัวออกด้านข้าง เพื่อไปทำหน้าที่กดชุดแผ่นคลัทช์ความฝืด เพื่อลอคเฟืองดอกจอกไม่ให้มีการหมุนเมื่อเฟืองดอกจอกไม่หมุนรอบตัวเอง ความแตกต่างในการหมุนระหว่างล้อทั้ง 2 ข้างก็ไม่เกิดขึ้น การส่งถ่ายกำลังระหว่างล้อทั้ง 2 ข้างก็จะเท่ากัน คือ 50:50 เมื่อเร่งความเร็วมากขึ้นจนเกินกว่า 30 กม./ชม. แขนเกี่ยวจะถูกเหวี่ยงตัวออกไปตามแรงหมุนที่มากขึ้น ก็จะปลดลอค (รูป C) ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ก็จะกลับมาเป็นเฟืองท้ายแบบธรรมดา เพราะระบบ ดิฟฟ์-ลอค ถูกออกแบบมาให้ใช้งานในความเร็วต่ำที่ต้องการพลังในการฉุดลากมากกว่า การติดตั้งระบบ G80 DIFF-LOCK ในรถ 4WD ช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นสภาพเส้นทางที่เป็นหล่มโคลน หรือทางร่วนได้ดี เส้นทางดังกล่าว รถ 2WD ที่ติดตั้งระบบนี้ ก็สามารถผ่านพ้นไปได้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องมีทักษะในการขับขี่มากหน่อย เพราะในรถ 2WD นั้น จะไม่มีตำแหน่งเกียร์ LOW ซึ่งสามารถใช้รอบเครื่อง และความเร็วที่ต่ำกว่าขึ้นไปได้อย่างสบาย แต่ในรถ 2WD ต้องใช้รอบเครื่อง และความเร็วที่สูงกว่า พูดง่ายๆ ก็คือ รถ 4WD แทบจะปล่อยให้เดินเบาก็ขึ้นไปได้ แต่รถ 2WD ที่มี ดิฟฟ์-ลอค ต้องชาร์จขึ้นไปด้วยความเร็วที่สูงกว่า ผลที่ตามมา คือ หน้ายางจะเสียหายได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเทียบกับรถ 2WD ที่ไม่มีระบบนี้ จะไม่สามารถผ่านพ้นไปได้ อะไรที่ได้อย่าง มันก็ต้องมีเสียอย่างเป็นธรรมดา

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2126341371001898&set=pcb.2126352407667461&type=3&theater

จุดประสงค์ของผู้จำหน่าย ที่เน้นกลุ่มเกษตรกรจะเหมาะมาก เพราะท้ายรถจะมีน้ำหนักกดมาก ทำให้หน้ายางสัมผัสพื้นได้มากกว่า สามารถใช้รอบเครื่อง และความเร็วต่ำกว่าได้ โดยล้อไม่เกิดอาการหมุนฟรีเพราะในการใช้งานจริง เมื่อรถที่มีน้ำหนักมากๆ ติดหล่ม ต้องใช้รถขนาดใหญ่มาลากทำให้เสียเวลาในการขนส่ง ซึ่งจะมีผลเสียตามมาหลายอย่าง ส่วนผู้ที่ต้องวิ่งบนเส้นทางในสวนในไร่ แต่ไม่มีความจำเป็นถึงกับจะต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ G80 DIFF-LOCK เหมาะสม เพราะราคาค่าตัวรถต่างกันมากแต่คุณต้องเรียนรู้ลักษณะการใช้งาน และขีดจำกัดของมัน ก็จะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทนทาน